Me

วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

การนอนหลับกับประโยชน์นานัปการ

posted on 27 Feb 2010 00:19 by tulip-on-me
บทความวิชาการ : การนอนหลับกับประโยชน์นานัปการ

บทนำ
     โดยปกติ คนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับการนอนเท่าที่ควร ด้วยแนวความคิดสมัยใหม่ที่คนเราจะใช้เวลาไปกับสิ่งที่มีความจำเป็นเท่านั้น อาจหมายถึงสิ่งที่จับต้องได้ในเวลาที่ตื่น เช่น ทำงาน อ่านหนังสือ เล่นกีฬาหรือกิจกรรมต่างๆนานาที่อ้างว่าเป็นการพักผ่อน โดยที่ทัศนคติเหล่านี้สวนทางกับกระแสรักสุขภาพในปัจจุบันและความจริงที่ถูกต้องทางวิทยาศาสตร์โดยสิ้นเชิง
            ตามแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ คนเราใช้เวลาถึงหนึ่งในสามของชีวิตไปกับการนอนหลับ ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนที่ดีที่สุดเพราะในอีกสองส่วนคือการใช้ชีวิตในตอนที่ลืมตา ซึ่งพฤติกรรมบางอย่างสร้างภาระให้กับร่างกายและสมองโดยไม่รู้ตัว การใช้เวลาพักผ่อนอย่างจริงจังหรือการนอนหลับให้เพียงพอจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตาม สถิติดังกล่าวคิดคำนวณโดยเฉลี่ยจากการนอน 6-7 ชั่วโมงในทุกวัน หากคนเรานอนน้อยกว่านั้นในอัตราความถี่ที่เสี่ยง เช่น นอนไม่พอติดต่อกันมากกว่า 4-5 วัน ผลลัพธ์คือเรากำลังปั่นเส้นด้ายแห่งชีวิตให้สั้นลง เป็นการทำร้ายสุขภาพของตนเองโดยตรงไม่ต่างจากการใช้ยาเสพติดหรือดื่มของมึนเมา ตามที่สมาคม The American Sleep Apnea Association และ Sleep Disorders Clinic and Research Center แห่งมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด[1] ทำการศึกษาวิจัยและพบว่า การที่เราอดนอนมากๆ นั้น จะมีผลเท่าเทียมกับการดื่มเหล้าจนเมา ที่สำคัญคือการอดนอนยังสามารถสร้างปัญหาเช่นเดียวกับการเมาเหล้าด้วย ซึ่งอาจลงท้ายด้วยการก่อปัญหาแก่ชีวิตนั่นเอง


ผลเสียจากการอดนอน
       แม้ว่าคนเราต้องนอนพักผ่อนให้เพียงพอในอัตราที่คงที่ แต่ใช่ว่าร่างกายของคนเราทุกคนจะเหมือนกัน ความแตกต่างทางด้านพันธุกรรม เพศและวัยมีผลต่อความจำเป็นในการนอนของคนเราแทบทั้งสิ้น คนที่มีร่างกายแข็งแรงและมีสุขภาพที่สมบูรณ์พร้อมอาจต้องนอนพักผ่อนเพียงแค่วันละ 5 ชั่วโมง ในขณะที่บางคนอาจต้องใช้เวลาในการนอนขั้นต่ำ 8-9 ชั่วโมง ซึ่งหากไม่เพียงพอเราจะสังเกตได้ในวันถัดมา โดยมีอาการดังต่อไปนี้
1.  มีอาการง่วงนอนหรือซึมเซาตลอดทั้งวัน
2.  อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายโดยไม่มีเหตุผล
3.  อาจมีอาการหลับในขณะที่ตื่นโดยไม่รู้ตัว
4.  หลับในทันทีหลังจากนอน
            อาการเหล่านี้เกิดจากการอดนอนที่นอกจากจะส่งผลในวันถัดไปแล้ว หากทำติดต่อกันจนกลายเป็นกิจวัตรประจำวันร่างกายจะปรับให้ชินกับสภาวะนั้นและส่งผลเสียในระยะยาว ระบบภายในร่างกายจะแปรปรวนและสูญเสียสมดุล โดยเฉพาะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ตามที่     แครอล อีเวอร์สัน นักจิตวิทยาสังคมที่มหาวิทยาลัยแห่งเทนเนสซี[2] ได้ค้นพบสัญญาแสดงว่า การ อดนอนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานหนักขึ้นในช่วงแรก ๆ โลหิตจะมีเม็ดโลหิตขาวเพิ่มขึ้นและมันก็สลายตัวในเวลาต่อมา ทำให้ความสามารถในการต้านทานแบคทีเรียและเชื้อไวรัสของร่างกายเราเสียไป
            โดยเฉพาะในผู้หญิง ผลเสียจากการอดนอนนั้นจะสร้างปัญหาไปยังใบหน้า รูปร่างและความงามตามวัยที่อาจจะลดลงอย่างรวดเร็ว โดยมีอาการ เช่น ดวงตาหมองคล้ำ ผิวหน้าเหี่ยวเฉาและมีอาการอิดโรยอย่างเห็นได้ชัด การอดนอนจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักเพราะเหมือนกับการก้าวเดินลงไปยังเหวด้วยเท้าของตนเอง

สารพันประโยชน์ต่อร่างกาย
        ร่างกายของคนเรามีกลไกการทำงานที่ซับซ้อน จึงต้องการการนอนหลับพักผ่อนเพื่อให้ระบบภายในได้พักฟื้นและเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานในวันถัดไป เปรียบเหมือนเครื่องจักรที่ต้องหยุดพักและซ่อมแซมส่วนที่เสียหายเพื่อให้สามารถทำงานให้ดีขึ้น เพราะคนเราไม่สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ดังที่แฮโรลด์ แซบปีลิน อาจารย์พิเศษสาขาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยแห่งมิชิแกน[3] บอกว่าการนอนหลับเป็นการบังคับของร่างกายเพื่อการประหยัดพลังงาน นั่นคือธรรมชาติบังคับให้คนเราพักผ่อนในแต่ละวันให้เพียงพอ
           ประโยชน์ของการนอนอีกประการหนึ่งจากการศึกษาค้นคว้าของเดนนิส แม็คกินตี้ นักวิจัยประสาทวิทยาของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในลอสแองเจลีส คือ การนอนสามารถช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย โดยมีสมองส่วนหนึ่งจะทำหน้าที่สั่งการให้เราหลับเมื่อระดับอุณหภูมิในร่างกายสูงเกินควรและส่งผลกระทบไปยังสมอง ทฤษฏีนี้พิสูจน์ได้ง่าย โดยสังเกตจากการออกกำลังกาย เช่น วิ่งหรือเล่นฟุตบอลในวันที่ร้อนจัดไม่นานก็อาจจะเป็นลม เช่นเดียวกับนักกีฬาที่ออกกำลังกายอย่างหักโหมจะต้องใช้เวลาในการนอนพักผ่อนมากกว่าคนปกติ เนื่องด้วยอุณหภูมิในร่างกายสูงผิดปกติ ทำให้ประสาทส่วนรับความร้อนภายในสั่งการให้ระบบดูดซึมอาหารทำงานช้าลงด้วยการทำให้รู้สึกง่วงนอนและหลังจากนั้นระดับอุณหภูมิก็จะลดต่ำลง

นอนหลับเพื่อสมอง
       นอกจากก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว การนอนหลับยังสามารถส่งผลดีต่อสมองอีกด้วย เนื่องจากสมองเป็นอวัยวะชิ้นสำคัญของคนเรา ถึงแม้ว่าจะมีน้ำหนักเบาแต่ว่าเอาพลังงานสะสมภายในร่างกายไปใช้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ในแต่ละวัน ซึ่งหากเรานอนหลับให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ระบบจัดเก็บความทรงจำหรือระบบประสาทจะถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น เมื่อเรานอนหลับโดยเฉพาะเมื่อเราหลับสนิทหรือหลับลึกแล้วฝัน จากงานวิจัยทางสมองพบว่า ความฝันเป็นอีกหนึ่งกระบวนการจัดเก็บข้อมูล โดยฉายภาพประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนที่ตื่นเพื่อจัดเก็บข้อมูลเหล่านั้น เป็นการเชื่อมต่อเซลล์ประสาทของสมองเพื่อเก็บเป็นความทรงจำถาวร โดยอวัยวะที่ทำหน้าที่ดังกล่าว มีชื่อว่า ฮิปโปแคมปัส[4] จะทำหน้าที่ถ่ายโอนข้อมูลที่เรียนรู้ในระหว่างวันเข้าสู่ความทรงจำระยะยาว ซึ่งอวัยวะชิ้นนี้ทำงานตอนที่เราหลับเท่านั้นและจะทำงานได้ดีหากเราหลับอย่างเพียงพอ
  
สรุป
      ประโยชน์ของการนอนหลับมีมากมาย แม้ว่าในปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในวัยเรียนและวัยทำงานต่างละเลยถึงความสำคัญของการนอน อันเกิดจากการบีบบังคับด้วยเงื่อนไขของเวลาและค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง แต่หากรู้จักการเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างถูกวิธี เล็งเห็นถึงข้อดีของการนอนหลับทีมีความเกี่ยวพันกับชีวิตคนเรา เชื่อว่าการดำเนินชีวิตไปอย่างมีความสุขพร้อมด้วยสุขภาพที่ดีของร่างกายและจิตใจคงจะเป็นความฝันที่ไม่ไกลเกินความจริง


บรรณานุกรม

วนิษา เรซ.2551.อัฉริยะ เรียนสนุก.กรุงเทพฯ:บริษัทอัฉริยะสร้างได้ จำกัด....ขันทอง สุขผ่อง.เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการนอนหลับ.[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก: http://www.uniserv.buu.ac.th/forum2/topic.asp?TOPIC_ID=1921 (วันที่ค้นข้อมูล:29 พฤศจิกายน 2552) ....ทอมเกเออร์.เรานอนหลับเพื่ออะไร.[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก:http://www.school .net.th/library/snet4/anatomy/sleep.htm(วันที่ค้นข้อมูล:29 พฤศจิกายน 2552) ....เอมอร คชเสนี.การนอนหลับ.[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก:http://www.novabizz .com/Health/Sleep.htm(วันที่ค้นข้อมูล:11 ธันวาคม 2552).... 10 วิธีปฏิบัติก่อนนอนเพื่อสุขภาพดี.[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก:http://www.forfriend .org/content/healthy/h0011.php(วันที่ค้นข้อมูล:15 ธันวาคม 2552)


 

[1]  มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) หนึ่งในสามมหาวิทยาลัยชั้นนำทางเทคโนโลยี นอกเหนือจาก MIT และ Caltech มีความโดดเด่นด้านงานวิจัยในสาขาฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ และเศรษฐศาสตร์ ตั้งอยู่ที่เมือง สแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
[2]  มหาวิทยาลัยแห่งเทนเนสซี (University of Tennessee) เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทางด้านหลักสูตรในระดับอุดมศึกษาที่ได้มาตรฐาน ตั้งอยู่ในมลรัฐเทนเนสซี (Tennessee) ซึ่งอยู่ ทางตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศสหรัฐอเมริกา
[3] มหาวิทยาลัยแห่งมิชิแกน(University of Michigan)เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในอันดับต้นของประเทศในหลายสาขาวิชา ได้แก่ ด้านวิศวกรรม บริหาร วิทยาศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ และดนตรี
[4] ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus)เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของสมองของมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ฮิปโปแคมปัสเป็นส่วนหนึ่งของระบบลิมบิก (limbic system) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างความทรงจำระยะยาว

http://tulip-on-me.exteen.com/20100227/entry

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ลอง ฟัง ดู