Me

วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

โรคไต

โรคไต สมุนไพร รักษาโรคไต
Tags: สมุนไพร เห็ดหลินจือ รักษาโรคไต

โรคไตกับสมุนไพรนั้นต้องแยกระหว่างสมุนไพรบำรุงไตกับสมุนไพรขับปัสสาวะ แล้วแต่จุดประสงค์ในการใช้ว่าต้องการบำรุงไตหรือขับปัสสาวะ สมุนไพรบำรุงไต ได้แก่ กระชายเหลืองหรือกระชายแกง ซังข้าวโพด ไหมข้าวโพด เห็ดหลินจือ ลูกหม่อน ถั่วเหลืองและหญ้าใต้ใบ เห็ดหลินจือจะช่วยได้ดีสำหรับกรณีไตวาย ส่วนหญ้าหนาวแมว ตะไคร้ช่วยขับปัสสาวะ


สมุนไพรบำรุงไต ไหมกับซังข้าวโพด เห็ดหลินจือ ลูกหม่อน

โรคไตวาย เกิดจากการที่ไตสูญเสียหน้าที่ ไม่สามารถขับน้ำ และของเสียออกจากร่างกายได้ ทำให้ร่างกายเสียสมดุล และเลือดเป็นพิษ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ซึม คลื่นไส้ และเสียชีวิตในที่สุดได้

โรคไตวายมี 2 แบบ คือ
  1. แบบเฉียบพลัน คือไตวายชั่วคราว สามารถฟื้นกลับมาหายเป็นปกติได้
  2. แบบเรื้อรัง ซึ่งการทำงานของไตเสียอย่างถาวร ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อีกแล้ว

โรคไตวายเรื้อรัง ไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว แต่เป็นภาวะที่ เกิดจากโรคหลายอย่าง สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ โรคเบาหวาน ที่เป็นมานานเกิน 15 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูงนาน ๆ โรคไตอักเสบเรื้อรัง นิ่วก็เป็นสาเหตุที่พบบ่อยในคนไทย สาเหตุของโรคไตวายเรื้อรังนั้นมีหลายอย่างบางอย่างสามารถรักษา และป้องกันการเสื่อม หรือชะลอการเสื่อมของไต ถ้าได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ และ ลดอาหารเค็ม ลดอาหารประเภทโปรตีน ควบคุมเบาหวาน ควบคุมความดันโลหิต ให้อยู่ในภาวะปกติ

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังส่วนใหญ่ ควรลดอาหารเค็ม เพราะร่างกายไม่สามารถขับเกลือ ออกจากร่างกายได้ตามปกติ ทำให้บวมและความดันโลหิตสูง
โรคไตวายเรื้อรัง ไม่ว่าเกิดจากสาเหตุใด สุดท้ายจะทำให้เกิดภาวะ ยูเรเมีย ( Uremia ) เหมือนกัน คือทำให้มีอาการ ซีด บวม อ่อนเพลีย ซึมลง จนหมดสติและชักได้ ร่างกายจะดำรงอยู่ไม่ได้ถ้าไตไม่ทำงานขับถ่ายของเสีย

วิธีที่แพทย์ปัจจุบันใช้รักษาไตวาย

ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการล้างไต ( Dialysis ) แต่การรักษาที่ดีที่สุด คือ การผ่าตัดปลูกเปลี่ยนไตจากคนที่บริจาคไตให้ แต่การปลูกเปลี่ยนไตมีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ มีผู้บริจาคไตน้อย มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังนับร้อยนับพันคนรอการบริจาคไตอยู่ ผู้ป่วยเหล่านี้จะอยู่ได้ด้วยการล้างไต ระหว่างที่รอการปลูกไต

การล้างไตปัจจุบันมี 2 วิธี
  1. วิธีการล้างไตทางหน้าท้อง ( CAPD : Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis )
    วิธีนี้ใช้สายยางฝังไว้ในช่องท้องอย่างถาวร และใส่น้ำยาเข้าไปในช่องท้อง เพื่อล้างเอาของเสียในเลือดออก ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำยาวันละ 4 - 5 ครั้ง ทุกวัน วิธีนี้มีข้อดีที่ทำเองที่บ้านได้ แต่มีข้อเสียเกิดการติดเชื้อในช่องท้องสูงเมื่อทำไปนาน ๆ และมีการสูญเสียโปรตีนออกมาทางน้ำยามากในแต่ละวัน อาจเกิดภาวะขาดอาหารถ้ารับประทานอาหารไม่เพียงพอ
  2. การฟอกเลือด ( Hemodialysis )
    โดยการดูดเลือดจากผู้ป่วยไปล้างเอาน้ำ และของเสียออกโดยใช้ไตเทียม (เครื่องฟอกเลือด) เลือดที่ล้างแล้วจะไหลกลับเข้ามาในตัวผู้ป่วย วิธีนี้ใช้เวลาครั้งละประมาณ 4 ชั่วโมง เพื่อที่จะให้ได้ผลดีควรฟอกเลือดสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง

จะเลือกวิธีไหนดีขึ้นอยู่กับโรคของผู้ป่วย และความพอใจของผู้ป่วย แพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยทราบทั้งข้อดี และข้อเสียของทั้ง 2 วิธี และแนะนำวิธีที่เหมาะสมให้ แต่ผู้ป่วยและญาติเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเอง ว่าจะล้างไตหรือไม่ แล้วเลือกล้างไตวิธีใด


Tags: เห็ดหลินจือ รักษาโรคไต
สมุนไพรบำบัดรักษาโรคไต
สมุนไพรบำรุงไตสามารถแยกออกได้เป็น 2 ประเภท ประเภทที่บำรุงไตโดยตรง และประเภทที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ซึ่งจะช่วยขับน้ำออกจากร่างกายเหมาะสำหรับคนที่ไตมีปัญหาขับน้ำ

เห็ดหลินจือ รักษาโรคไต
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ วิจัยนำเห็ดหลินจือมารักษาไตเรื้อรัง

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยนำเห็ดหลินจือมารักษาไตเรื้อรัง ระบุเห็ดหลินจือช่วยฟื้นฟูการทำงานของไต ทางเลือกใหม่แทนกินยากดภูมิคุ้มกัน แพทย์จุฬาฯศึกษากลไกการเกิดภาวะไตวายในร่างกาย พร้อมสร้างทางเลือกใหม่รักษาโรคไตเรื้อรังด้วยสารสกัดเห็ดหลินจือ เผยผลทดสอบเบื้องต้นช่วยผู้ป่วยกลับสู่ภาวะปกติ ระบุสรรพคุณสร้างสมดุลให้ระบบภูมิคุ้มกัน ลดอาการไตอักเสบ ภาวะไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ แถมยังเพิ่มประสิทธิภาพระบบไหลเวียนโลหิตและเพิ่มสมรรถภาพการทำงานของไต

รศ.พญ.ดร.นริสา ฟูตระกูล ภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทีมวิจัยค้นพบวิธีรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเนฟโฟรสิส ชนิด focal segmental sclerosis ที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยากดภูมิคุ้มกัน เช่น สเตียรอยด์ โดยเปลี่ยนให้รับประทานสารสกัดจากเห็ดหลินจือวันละ 750 - 1,000 มิลลิกรัม ควบคู่กับการให้ยาขยายหลอดเลือด พบว่า ช่วยฟื้นฟูระบบการทำงานของไตให้ดีขึ้น อีกทั้งภาวะเนื้อไตตายลดลงอย่างชัดเจน

หลังจากทำวิจัยแล้วพบว่า สาเหตุมาจากสารพิษในเลือด สารอนุมูลอิสระ และการเสียสมดุลของระบบภูมิคุ้มกัน ที่ทำให้สารซัยโตคายน์เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเซลล์บุผิวหลอดเลือด ทำให้เกิดการหดรัดตัวของหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้น จนเกิดความดันภายในไตเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ไตเกิดภาวะขาดเลือด เกิดเนื้อไตตายได้

นักวิจัย กล่าว ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเนฟโฟรสิส ชนิด focal segmental sclerosis จะมีอาการเนื้อตัวบวมอย่างเห็นได้ชัด และหากตรวจเลือดและปัสสาวะจะพบภาวะไข่ขาวรั่วในปัสสาวะมากกว่า 3.5 กรัมต่อวัน ส่งผลให้โปรตีนในเลือดต่ำ ปริมาณการหมุนเวียนในเลือดไม่เพียงพอ เลือดในร่างกายพร่อง ข้นหนืด ก่อให้เกิดการอุดตัน และยังมีภาวะเผาผลาญไขมันผิดปกติ ไขมันในเลือดสูง ภาวะต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ไตมีการอักเสบ เสื่อม และถูกทำลายจนเข้าสู่ภาวะไตวายในท้ายที่สุด

หลังจากเข้าใจถึงกลไกของสาเหตุโรคไตแล้ว รศ.พญ.ดร.นริสาจึงได้นำเอาสารสกัดจากเห็ดหลินจือ (Ganoderma lucidum) มาทดลองกับผู้ป่วย เนื่องจากมีสรรพคุณในการช่วยฟื้นฟูระบบสมดุลของภูมิคุ้มกัน พร้อมทั้งยังได้รักษาร่วมกับการใช้ยาขยายหลอดเลือดด้วย

สำหรับอาสาสมัครที่เข้ารับการรักษา เป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีอาการไข่ขาวรั่วในปัสสาวะต่อเนื่อง 5 - 10 ปี กำลังอยู่ในภาวะไตเสื่อมถอยลงอย่างช้าๆ และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกัน หลังจากรักษาได้ราว 1 ปี พบว่าภาวะเสียสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันเข้าสู่ระดับปกติ ผู้ป่วยมีการทำงานของไตดีขึ้น ภาวะไข่ขาวรั่วในปัสสาวะลดลง และสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพของไตให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้

"ปริมาณของสารสกัดจากเห็ดหลินจือที่มีคุณสมบัติในการรักษาได้นั้น จะอยู่ประมาณ 750 - 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยต้องใช้ร่วมกับยาขยายหลอดเลือด ซึ่งจะเข้าไปช่วยฟื้นฟูกลศาสตร์ไหลเวียนของไตให้ดีขึ้น เพราะเลือดจะไหลเข้าสู่ไตได้มากขึ้น ทำให้ความดันภายในไตลดลง"

นอกจากนี้การบริโภคสารสกัดเห็ดหลินจือในปริมาณดังกล่าวยังไม่ก่อให้เกิด อันตรายหรือผลข้างเคียงใดๆ ด้วย เนื่องจากเห็ดหลินจือเป็นสมุนไพรที่มีเพดานการบริโภคที่สูงมาก

รศ.พญ.ดร.นริสา ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคไตว่าผู้ป่วยจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการ บริโภคและการดำเนินชีวิตโดยให้ความสำคัญในเรื่องอาหาร น้ำ อากาศ การออกกำลังกาย การกำจัดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนในปริมาณที่จำกัด ควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในภาวะปกติ นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารให้ครบ ๕ หมู่ ดื่มน้ำให้มากเพียงพอเพื่อไม่ให้ไตขาดเลือด ที่สำคัญคือควรงดสูบบุหรี่

ทำไมเห็ดหลินจือถึงรักษาโรคไตอักเสบ ไตวายได้

นพ. บรรเจิด ตันติวิท ได้เขียนหนังสือ "หลิงจือ กับ ข้าพเจ้า" ซึ่งอธิบายหลักการทำงานของเห็ดหลินจือ และประสบการณ์ในการรักษาเห็ดหลินจือให้แก่ผู้ป่วย ได้อธิบายถึงการทำงานของเห็ดหลินจือว่าทำไมถึงรักษาโรคไตอักเสบ ไตวายได้

ไตที่อักเสบจะมีใยแผลเป็นที่ไต นานเข้าจะหดรัดไต ทำให้ไตเล็กลง รวมทั้งยังรัดเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงไต ทำให้ไตทำงานไม่ได้ ไตเกิดภาวะขาดเลือด

เห็ดหลินจือช่วยรักษาโรคไตอักเสบ ไตวายได้ เพราะ
  1. เห็ดหลินจือจะช่วยละลายใยแผลเป็นให้อ่อนตัว ไม่ให้ไปรัดเส้นเลือดที่เลี้ยงไต เพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงไตได้ จึงทำให้ไตทำงานได้ดีขึ้น
  2. เห็ดหลินจือมีสารนิวคลีโอไชด์ มีคุณสมบัติละลายลิ่มเลือด ไม่ให้ลิ่มเลือดเกาะตัวง่ายจนทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือด ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
  3. เห็ดหลินจือเป็นแอนติออกซิแดนต์สามารถขจัดอนุมูลอิสระได้
  4. เห็ดหลินจือมีโปรตีน Lz-8 ที่ปรับระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานเป็นปกติ รวมทั้งมีสารเยอรมาเนียมและสารโพลีแซคคาไรด์ที่ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ให้แข็งแรงอีกด้วย


กระชาย สมุนไพรบำรุงไต

อาจารย์สุทธิวัสส์ คำภา นักธรรมชาติบำบัด ได้แนะนำ สูตรน้ำกระชาย
สำหรับบำรุงไต บำรุงสมอง บำรุงกระดูกมีแคลเซียมสูง ปรับสมดุลของฮอร์โมน
ส่วนประกอบน้ำกระชาย
กระชายเหลืองหรือที่ชาวบ้านเรียกว่ากระชายแกง
1 ขีด
ใบโหระพา หรือใบบัวบก (ใส่เพื่อดับกลิ่นกระชาย)
น้ำผึ้ง
2 ช้อนโต๊ะ
มะนาว
2 ลูก
น้ำ
2 แก้ว

เอากระชายปอกเปลืองแล้วล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้น ใส่ใบโหระพา กับน้ำแล้วปั่น กรองเอาเฉพาะน้ำ เติมน้ำผึ้งและบีบมะนาว น้ำกระชายที่ปั่นแล้วกรองเอาเฉพาะน้ำแล้ว สามารถเก็บในตู้เย็นได้นาน ทำเก็บไว้กินได้เป็นอาทิตย์

ใบโหระพา หรือใบบัวบก นอกจากใส่เพื่อดับกลิ่นกระชายแล้ว กินใบโหระพาวันละ 7 ยอด เป็นยาอายุวัฒนะ ส่วนใบบัวบกบำรุงสมอง

เสริมด้วยอาหารบำรุงไต อย่างเห็ดหูหนูดำ หากนำเห็ดหูหนูดำรวมกับเห็ดอื่นอีก 2 ชนิด รวมเป็น 3 ชนิดมารวมกัน ทำเป็นต้นจืด ต้มยำ หรือจะแกงก็ได้ แต่อย่าผัดกับทอด นอกจากจะบำรุงไตแล้ว ยังบำรุงตับด้วย

สมุนไพรบำรุงไตอื่นๆ

สมุนไพรไทยบำรุงไต อาจจะต้องใช้เป็นประจำทุกวัน สมุนไพรที่มีอยู่ทั่วไป ที่พอจะหาได้ง่าย และสามารถนำไปใช้โดยไม่มีผลข้างเคียง ยกตัวอย่างเช่น
  1. ผลหม่อนหรือเรียกว่าลูกหมอน กินสดทั้งผล มีสารประกอบของวิตามินซี ไบโอฟลาโวนอยด์สูงมาก สรรพคุณสมุนไพร : บำรุงไต แก้อาการอักเสบของเนื้อไต
    (ลูกหม่อนหาทานยากเสียหน่อย แต่บำรุงไตดีมาก)
  2. เกสรหรือไหมข้าวโพดและซังข้าวโพด เอาตากแห้งแล้วต้มน้ำดื่มแทนน้ำ
    สรรพคุณสมุนไพร : แก้ไตอักเสบ ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ คนที่เป็นโรคเบาหวานด้วย ทานสูตรนี้ดี รสไม่หวาน หาซื้อข้าวโพดมาทำเองง่าย
  3. ใบข่อย ใช้ต้มน้ำแบบใบชาดื่มแทนน้ำ
    สรรพคุณสมุนไพร : แก้ไตพิการ ขับปัสสาวะ
  4. ใบ ต้น และรากหรือเหง้าของเตย ต้มดื่มแทนน้ำ
    สรรพคุณสมุนไพร : แก้กระษัย ไตพิการ ขับปัสสาวะ
  5. ดอกบานไม่รู้โรยเฉพาะดอกสีขาว ใช้ต้มน้ำดื่มแบบน้ำชาแทนน้ำ
    สรรพคุณสมุนไพร : แก้กระษัย แก้โรคทางเดินปัสสาวะ ขับปัสสาวะ
  6. เปลือก เหง้า และตะเกียงสับปะรด ต้มกับน้ำจนเดือด เคี่ยวนาน 15 นาที
    สรรพคุณสมุนไพร : แก้กระษัย บำรุงไต ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว
  7. หญ้าใต้ใบทั้งต้น ต้มกับน้ำจนเดือด เคี่ยวนาน 15 นาที
    สรรพคุณสมุนไพร : กระตุ้นสมรรถภาพไต
  8. ต้นหญ้าหนวดแมว หั่นตากแห้งชงกินแบบน้ำชาต่างน้ำ
    สรรพคุณสมุนไพร : แก้กระษัย ทำให้ไตมีกำลัง ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว สำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจต้องระมัดระวัง ถ้าใช้หญ้าหนวดแมวแล้วอาจทำให้หัวใจสั่น เพราะหญ้าหนวดแมวจะบีบหัวใจนิดหน่อย
  9. ถั่วเหลือง นมถั่วเหลือง เต้าหู้ เป็นประจำ หรือจะใช้สารสกัดจากถั่วเหลืองที่ชื่อไอโซฟลาโวน หรือเจนีสเตอิน ครั้งละ 1 เม็ด (25 -30 มก.) วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร
    สรรพคุณสมุนไพร : เสริมสมรรถภาพไต ทำให้ไตทำงานได้ดีขึ้น
สมุนไพรขับปัสสาวะ มีสมุนไพรไทยหลายชนิดที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เป็นการขับเอาน้ำออกจากร่างกาย ลดอาการบวมน้ำได้ดี ที่หาได้ง่ายและไม่มีผลข้างเคียง สามารถเอามาต้มน้ำดื่มหรือกินเป็นอาหารได้เช่น ลูกเดือย ใบเตย น้ำเต้า ตะไคร้ กระเจี๊ยบ กระชาย บวบเหลี่ยม อ้อย (ลำต้น)

อาหารที่ควรควบคุมสำหรับคนเป็นโรคไต
  1. งดอาหารที่มีเกลือโซเดียมมาก อาหารที่มีรสเค็ม เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ผงชูรส เพราะไตไม่สมารถขับโซเดียมออกจากร่างกายได้ เมื่อเกลือในร่างกายมีมาก มันจะอุ้มน้ำเอาไว้มากเกินไป จนคนที่เป็นโรคไตมีอาการบวม
  2. จำกัดโปรตีน แนะนำว่าในแต่ละวัน อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์น่าจะมีปริมาณวันละเท่ากับ 1 ฝ่ามือ แต่สำหรับคนที่เป็นโรคไตเนฟโฟรติก มีการสูญเสียโปรตีนในปัสสาวะ ให้ใช้วิธีกินโปรตีนคุณภาพสูงเข้าไปทดแทน คือกินเฉพาะไข่ขาวในระหว่างที่ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ วิธีนี้จะดีกว่าการกินอาหารโปรตีนมาก ๆ เพื่อป้องกันการสูญเสียทางไตเอาไว้ก่อน แนะนำว่า ให้กินไข่ขาววันละ 4-6 ฟองจะช่วยทดแทนโปรตีนที่สูญเสียไปกับปัสสาวะในแต่ละวัน หากไม่มีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะแล้วก็ให้งดการกินไข่ขาวไป
  3. งดสารปนเปื้อนในอาหารเด็ดขาด เช่น สีผสมอาหาร กลิ่นสังเคราะห์ รสชาติสังเคราะห์ สารกันบูด กันเชื้อรา ฯลฯ เพราะสารเคมีเหล่านี้ล้วนเป็นภาระให้ไตต้องขับออกนอกร่างกาย


เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง


Book Reference:
หนังสือ "หลิงจือ กับ ข้าพเจ้า" โดย นพ. บรรเจิด ตันติวิท
หนังสือ นาฬิกาชีวิต สูตรน้ำกระชาย อาจารย์สุทธิวัสส์ คำภา
Related Link: [WebSite External Reference]
อาหารบำรุงไต โดย แพทย์หญิง ลลิตา ธีระสิริ


http://www.alternativecomplete.com/alternative4.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ลอง ฟัง ดู